- GREY RAY
4 หัวใจสำคัญที่นักออกแบบต้องรู้ สำหรับการออกแบบอย่าง ECO Friendly

ปัจจุบันสังคมเริ่มหันกลับมาใส่ใจโลกและสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น หลายคนคงเคยได้ยินกันมาเยอะแล้วสำหรับการออกแบบอย่าง ECO Friendly แต่การออกแบบอย่างไรล่ะ ที่จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ มาทำความเข้าใจกันให้ถูกต้องดีกว่า เพราะเรื่องแบบนี้ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่นักออกแบบแต่ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราเลย เห็นตัวอย่างได้ง่ายๆในชีวิตประจำวันของเรานี่แหละ ซึ่งแต่ละขั้นตอนประกอบไปด้วย 4 ส่วนหลัก คือ
1. กระบวนการผลิต (Production)
ในกระบวนการผลิต การเลือกวัตถุดิบเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมาก ใช้วัตถุดิบอย่างไรที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น วัตถุดิบจากของเหลือใช้ในครัวเรือนหรือจากอุตสาหกรรม วัตถุดิบที่ปลอดสารพิษ วัตถุดิบที่สามารถนำไปแปรสภาพกลับมาใช้ใหม่ได้
ส่วนกระบวนการออกแบบก็สามารถช่วยลดขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อนลงได้ ทำให้เชื้อเพลิงพลังงานที่ใช้ลดลง และแน่นอนว่าของเสียที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิตก็จะลดลงตามไปด้วย รวมไปถึงการการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ถ้าลองพิจารณาดูให้ดีอาจมองเห็นจุดที่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อช่วยประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บและสามารถนำไปใช้งานอย่างอื่นนอกเหนือจากการบรรจุสินค้าได้อีกด้วย

Four- Packs of Greek Yogurt by Danone Canada
แนวคิดการลดบรรจุภัณฑ์ให้น้อยลง แต่คุณภาพยังเหมือนเดิม

HangerPak by Steve Haslip
( First prize in the D&AD Student Awards 2007 category 'What else do you do?' )
แนวคิดมาจากการที่เขาสั่งซื้อเสื้อออนไลน์บ่อยจนไม้แขวนเสื้อไม่พอใช้ และเสื้อที่ได้มาก็ยับจาก
การขนส่ง จึงออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเป็นทั้งกล่องใส่เสื้อที่แข็งแรง
และยังเปลี่ยนมาใช้เป็นที่แขวนเสื้อต่อได้โดยไม่ต้องทิ้งอีกด้วย
2. การขนส่ง (Logistics)
ในการขนส่งสินค้าก็เป็นจุดที่สำคัญไม่แพ้กระบวนการอื่นเลย เพราะการจัดเรียงหรือการขนส่งที่ไม่รอบคอบอาจทำให้สินค้าหรือวัตถุดิบที่เราจัดเตรียมมาอย่างดีเกิดเสียหายได้ นักออกแบบจึงต้องไม่ลืมคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่มองแค่ด้านความสวยงามเพียงอย่างเดียว เพราะถึงจะออกแบบมาสวยแค่ไหนแต่มาสะดุดตอนการขนส่งคงจะปวดหัวไม่น้อย ยังไงการคิดแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นก็ดีกว่ามาแก้ที่ปลายเหตุแน่นอน เช่น ออกแบบให้สามารถพับ ถอดประกอบหรือวางซ้อนได้ เพื่อให้การขนส่งแต่ละครั้งสามารถจัดเรียงได้หลายชิ้นมากขึ้น เท่านี้ก็ช่วยลดพลังงานหรือเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่งได้แล้ว

The folding Colander by Joseph Joseph
ตะกร้าล้างผักผลไม้ เมื่อถอดกางออกจะมีความหนาเพียง 1 ซม.
สามารถจัดเก็บได้ง่ายและช่วยประหยัดพื้นที่ในลิ้นชักห้องครัว


FJÄRMA food container by IKEA
กล่องข้าวพกสะดวก เมื่อทานอาหารหมดแล้วสามารถพับให้เล็กลงได้
3. คำนึงถึงผู้ใช้งาน (Human Center)
ในขั้นตอนการออกแบบนอกจากเรื่องของการใช้งานและความสวยงามแล้ว สิ่งสำคัญที่เป็นแกนหลักในการออกแบบที่จะลืมไม่ได้เลยคือผู้ใช้งาน จะทำอย่างไรให้ตอบโจทย์การใช้งาน สามารถใช้ได้ทุกเพศทุกวัย ตรงตามวัตถุประสงค์หลักของกลุ่มคนเหล่านั้น รวมไปถึงความทนทานและระยะเวลาการใช้งานให้สามารถใช้ได้นานไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยๆให้สิ้นเปลือง เพื่อให้คุ้มค่ากับทรัพยากรต่างๆ ที่ต้องสูญเสียไปจากการผลิต

Eco-Sil Reusable Silicone Food Bag
ถุงซิลิโคนสำหรับใส่อาหารได้ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นของแห้ง, เหลว, ร้อน, เย็น หรือขนม
สามารถล้างแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ถุงปิดมิดชิดพกความสดใหม่ไปกับอาหารของคุณได้ทุกที่

TOGO BURGER by Seulbi Kim, Rhode Island School of Design (Student Project)
ออกแบบมาเพื่อให้ถืออาหารและเครื่องดื่มไปพร้อมกันได้สะดวกขึ้น สำหรับชีวิตที่เร่งรีบ
สามารถถือได้ในมือเดียว แต่ใช้กระดาษน้อยลงจากแบบเดิมๆ

Smart Spray Bottle by Replenish
แนวคิดมาจากขวดน้ำยาแบบสเปรย์ที่วางขายอยู่ทั่วไป มีส่วนผสมของน้ำมากถึง 90% จึงออกแบบ
ขวดสเปรย์ที่แบ่งเป็นสองส่วน สามารถใส่น้ำยาเข้มข้นไว้ที่ก้นขวดแล้วบีบมาผสมกับน้ำด้านบนได้
ด้วยสัดส่วนของน้ำยาที่ปริมาณมากขึ้น ทำให้ใช้ขวดได้ยาวนานขึ้นไม่ต้องซื้อซ้ำ
4.การจัดการหรือกำจัด (Disposal)
งานออกแบบที่ดี ต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นักออกแบบต้องมองตั้งแต่ต้นทางการผลิตไปจนถึงปลายทางเมื่อเสื่อมสภาพอย่างครบวงจร จะออกแบบอย่างไรให้ไม่เป็นภาระในการจัดการ และกำจัดได้ง่ายที่สุด สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ สามารถรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือออกแบบให้ซ่อมแซมเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ เพื่อยืดอายุการใช้งานไม่ต้องไปซื้อใหม่และช่วยลดการทิ้งให้กลายเป็นขยะ

Compostable Compost Bin by {POST}MODERN
ที่ใส่เศษอาหารเก็บกลิ่น ช่วยให้การจัดการเศษอาหารในบ้านง่ายขึ้น
ช่วยแยกขยะและย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างภาชนะบรรจุอาหารที่มาจากพืช ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
ลดปริมาณขยะ ไม่ตกค้างเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม

2cm+ Pencil by GREY RAY Stationery
ลดไส้ลง 2 ซม. เพื่อให้คนใช้ไส้กราไฟท์ได้หมดเกลี้ยงจริงๆ
วิธีแก้ปัญหาง่ายๆ จากการใช้ดินสอไม่หมดแท่ง
จริงๆแล้ว วิธีที่จะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายที่สุดนั้น ไม่ใช่การลดหรือเลิกใช้ แต่เป็นการคิดก่อนใช้ว่าเราจะใช้อย่างไรให้คุ้มค่ามากที่สุด ใช้ให้พอเพียง พอดีกับการดำเนินชีวิต พร้อมทั้งคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย หรืออย่างน้อยควรใช้อย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อตัวเองและสังคม เพราะคำว่า ECO Friendly ไม่ใช่แค่สร้างคอนเซปสวยงามแล้วไม่สามารถทำได้จริง แต่ ECO Friendly ต้อง friendly ทั้งกับสิ่งแวดล้อมและกับตัวเราด้วย คือจะใช้อย่างไรให้อยู่ในชีวิตประจำวันของเราและทำได้จริงนั่นเอง
- Credit -
บทความต้นฉบับ : www.sparcthai.org
ภาพ : GREY RAY, Pinterest
เรียบเรียงบทความ : Pamornparn